วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

น้ำใจนักกีฬา

น้ำใจนักกีฬา (Sportsmanship)


น้ำใจนักกีฬา = น. เมื่อนักกีฬาประพฤติตนอยู่ในความเสมอภาค (fair) และเคารพต่อทีมคู่แข่ง หรือผู้เล่นฝั่งตรงข้าม ในขณะเล่นกีฬา 
น้ำใจนักกีฬา คือ ความสอดคล้องกันของ การเคารพกติกา การมีสปิริต การมีมารยาท และจรรยาบรรณของผู้เล่นกีฬา ซึ่งอาจเกี่ยวพันกับการเป็นผู้ชนะที่ดี เช่นเดียวกับการเป็นผู้แพ้ที่ดี ฉะนั้นก็อาจกล่าวได้ว่า น้ำใจนักกีฬาคือส่วนประกอบแห่งคุณธรรมในเกมกีฬา และแนวคิดของแฟร์เพลย์
น้ำใจนักกีฬา อาจจะมีความหมายกลมกลืนกับ แฟร์เพลย์ ซึ่งแฟร์เพลย์ก็คือ การที่นักกีฬาทั้งสองทีม มีโอกาสเท่าๆ กันในการเป็นผู้ชนะ และเล่นอยู่ในกรอบกติกามารยาท ในขณะที่น้ำใจนักกีฬานั้น คือ คุณธรรมในการเล่นกีฬา เช่น ความซื่อสัตย์ต่อคู่แข่งขัน ตรงไปตรงมา มุ่งมั่น แน่วแน่ และสง่างาม แม้ในยามที่คู่แข่งเล่นนอกกติกา หรือไร้มารยาท และยังรวมถึงการเคารพต่อผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมทีม โค้ช คู่แข่ง และผู้ตัดสิน ในอีกนัยหนึ่ง น้ำใจนักกีฬา คือ การระงับอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของตนเองต่อแรงปรารถนาของตนเอง ต่อการถูกท้าทาย ต่อโอกาสในชัยชนะ ฯลฯ ซึ่งอาจเกิดขึ้นระหว่างการเล่นกีฬา การเป็นนักกีฬาที่ดี หรือมีน้ำใจนักกีฬานั้น สามารถมองจากมุมมองของการมีคุณค่าแห่งคุณธรรม และจริยธรรมในการเล่นกีฬา ดังนั้น ภาพที่นักกีฬาช่วยพยุงคู่แข่งให้ลุกขึ้นหลังจากการสกัดอันหนักหน่วง หรือการโอบกอดจับมือกันหลังจบเกม คือ ภาพที่สวยงาม ประทับใจ และตรึงอารมณ์ผู้ชมเสมอมา
 View ImageGood Sportsmanship by dmguz.
ปัจจัยแห่งการเป็นนักกีฬาที่ดี และมีน้ำใจนักกีฬา เช่น
-        มีความรับผิดชอบ มุ่งมั่นเต็มที่ในสิ่งที่กำลังปฏิบัติอยู่ เช่น ทุ่มเทตลอดการซ้อม และการแข่งขันยอมรับ    ทุกความผิดพลาด และพยามยามปรับปรุง
-       เคารพ และให้ความสำคัญกับ กฎ กติกา ผู้ตัดสิน และผู้ชม
-        ตระหนักถึงความสง่างามของนักกีฬาที่ดี และเป็นที่ยอมรับของผู้ชม เช่น การจับมือกัน การยอมรับ และเห็นคุณค่าในการเล่นที่สวยงามของคู่ต่อสู้ ยินดีกับชัยชนะของคู่ต่อสู้ ไม่ถากถางคู่ต่อสู้
-       ให้ความสำคัญกับการเล่นด้วยความยุติธรรม ตรงไปตรงมา เช่น ให้คู่แข่งยืมอุปกรณ์การแข่งขัน ยอมรับ    ที่จะแข่งขันต่อไปแม้จะประสบกับความไม่ยุติธรรม ไม่ฉกฉวยความได้เปรียบยามคู่แข่งขันได้รับบาดเจ็บ
-        หลีกเลี่ยงทัศนคติที่ไม่ดีต่อเกมการแข่งขัน เช่น ไม่ใช้ความพยายามทุกวิถีทางในการเอาชนะ ไม่แข่งขันเพื่อความสำเร็จของตนเองแต่ผู้เดียว

10วิธี"มีน้ำใจนักกีฬา"

นอกจาก "ชัยชนะ" จะเป็นสิ่งที่นักกีฬาทุกคนต้องการให้เกิดขึ้นกับทีมของตัวเองแล้ว และสิ่งสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้ามเช่นกัน คือความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา เพราะกีฬาสอนให้คนรู้จักแพ้ รู้จักชนะ และรู้จักอภัย

กลเม็ดวันนี้ ขอแนะนำ 10 วิธีของการมีน้ำใจเป็นนักกีฬามาฝากกัน ดังนี้


1.ปฏิบัติตามกฎกติกาการแข่งขัน
การจะเป็นผู้แข่งขันที่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา จำเป็นต้องเล่นตามกฎกติกาการแข่งขัน และยอมรับกฎที่กำหนดเอาไว้ ยิ่งปฏิบัติตามกฎได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสนุกกับการ เล่นกีฬามากยิ่งขึ้น
 

2.พยายามหลีกเลี่ยงการโต้เถียง
การโต้เถียงกับผู้ตัดสิน,กรรมการ,โค้ช หรือคู่แข่ง มีแต่จะทำให้อุณหภูมิในการแข่งขันดุเดือด นักกีฬาที่ดีควรจะรู้จักหลีกเลี่ยงการโต้แย้งหรือการโต้เถียง และพุ่งความสนใจไปที่การแข่งขันที่กำลังดำเนินอยู่แทน

3.รับผิดชอบร่วมกับทีม
ผู้เล่นที่ดีควรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อทีมร่วมกัน เพราะกีฬาที่เล่นกันเป็นทีม ความประพฤติของนักเตะแต่ละคนล้วนส่งผลกระทบต่อทีมทั้งสิ้น ทุกคนจึงควรรับผิดชอบร่วมกัน

 

4.ช่วยเหลือเพื่อนนักกีฬาที่อ่อนกว่า
นักกีฬาประเภททีมที่ดีต้องคอยช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีมที่เล่นด้อยกว่าคนอื่น และคอยช่วยกระตุ้นให้เพื่อนอยากพัฒนาตัวเอง

 

5.เล่นอย่างขาวสะอาด
ชัยชนะที่ได้มาจากการแข่งขันต้องเกิดจากการเล่นอย่างขาวสะอาด ไม่ใช่มุ่งหวังแต่ผลชนะด้วยการเข้าสกัดอย่างรุนแรง,ทำฟาวล์คู่แข่งอย่างสกปรก หรือใช้สารต้องห้ามต่างๆ

 

6.ทำตามคำสั่งของโค้ช
ควรปฏิบัติตามคำสั่งของโค้ช และระลึกไว้ว่าการเล่นของทุกคนล้วนส่งผลต่อเพื่อนร่วมทีม ถ้าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของโค้ช ควรหาโอกาสปรับความเข้าใจกันตามลำพัง โดยให้ไกลจากสายตาผู้อื่น
 
 

7.เคารพความสามารถของทีมคู่แข่ง
ไม่ว่าทีมคู่แข่งจะเล่นดีกว่าหรือแย่กว่า ยามเมื่ออยู่ในสนามแข่งขันควรจะเคารพคู่แข่ง ไม่ควรโทษคู่ต่อสู้เวลาที่ทีมตัวเองเล่นได้แย่กว่า แต่ควรจะยอมรับผลการแข่งขันนั้น และหากทีมเล่นได้ดีกว่า ก็ไม่ควรประมาทหรือดูถูกฝีมือคู่แข่งเช่นกัน

 

8.กระตุ้นเพื่อนร่วมทีม
นักกีฬาที่ดีควรชื่นชมเพื่อนร่วมทีมเวลาที่พวกเขาเล่นได้ดี ให้กำลังใจและคอยกระตุ้นเพื่อนร่วมทีมเวลาที่พวกเขาเล่นผิดพลาด การวิจารณ์เพื่อนอย่างรุนแรงจะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นภายในได้ และเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทีมคู่แข่งจะเลือกโจมตีได้ เมื่อเห็นว่านักเตะฝ่ายตรงข้ามไม่มีความสมัครสมานสามัคคีกันเอง

9.ยอมรับคำตัดสินของกรรมการ
การโต้เถียงคำตัดสินของกรรมการเป็นการกระทำที่เสียแรงเปล่า นักกีฬาที่ดีควรจะรู้ว่าทุกคนมีสิทธิทำผิดพลาดได้ ดังนั้น นักกีฬาควรใส่ใจกับการเล่นของตัวเอง และเล่นให้ดีที่สุดในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ แทนที่จะคอยประท้วงแต่คำตัดสินของกรรมการ

 

10.จบเกมอย่างราบรื่น
เมื่อเกมจบ ความรู้สึกทุกอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขันควรจะจบตามไปด้วย โดยเฉพาะความคิดในแง่ลบทั้งหลาย อาทิ ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับคู่แข่ง เพื่อให้เกมจบลงอย่างราบรื่น และเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน